การตรวจวิเคราะห์สภาพตาก่อนทำการรักษาภาวะสายตาผิดปกติ โดยละเอียดมีความสำคัญ สองประการ คือ
- ประการแรก เพื่อพิจารณาว่าท่านเป็นผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการรักษาหรือไม่
- ประการที่สอง เพื่อพิจารณาว่า ดวงตาของท่านมีสุขภาพตาสมบูรณ์ มีโรคใดๆ หรือไม่

1. งดใส่คอนแทคเลนส์ ก่อนวันตรวจวิเคราะห์สภาพตา

- คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft Lens) ควรงดใส่คอนแทคเลนส์อย่างน้อย 3 วันก่อนตรวจ
- คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Hard Lens) หรือชนิดกึ่งแข็งกึ่งนิ่ม (Semi Hard Lens) ควรงดใส่คอนแทคเลนส์อย่างน้อย 14 วันก่อนตรวจ
- สามารถใช้แว่นสายตาแทนในระหว่างที่ไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์
เหตุผลของการงดใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากคอนแทคเลนส์สัมผัสโดยตรงกับกระจกตาเมื่อใช้ไปนานๆ อาจทำให้รูปร่างของกระจกตาเปลี่ยนแปลงได้ และจะต้องใช้เวลาในการกลับคืนรูปร่างตามธรรมชาติ คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งจะมีผลต่อกระจกตามากกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม การวัดสายตาโดยที่ถอดคอนแทคเลนส์มาไม่นานพอ จะได้ค่าการวัดที่ไม่เที่ยงตรงในวันตรวจวิเคราะห์สภาพตา จักษุแพทย์จะเป็นผู้ตรวจวิเคราะห์ว่า กระจกตากลับสู่รูปร่างตามธรรมชาติหรือยัง
นอกเหนือจากนั้นคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม ยังมีผลต่อปริมาณของน้ำตาที่หล่อเลี้ยงผิวตา ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะผิวตาแห้ง ทำให้มีผลต่อการวัดสายตา และต่อการสมานตัวของเซลล์ผิวตา หากความโค้งของกระจกตายังไม่ปกติ หรือยังมีภาวะผิวตาแห้ง จักษุแพทย์จะแนะนำให้ท่านถอดคอนแทคเลนส์ต่อไปอีกอย่างน้อย 2-3 วัน หรือตามความเหมาะสม และนัดท่านกลับมาตรวจสภาพกระจกตาซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
2. การหยุดยาบางประเภท
- ยารักษาสิวชนิดรับประทานในกลุ่ม Isotretinoin เช่น Roaccutance, Acnotin, Isotret ต้องหยุดยาก่อนวันตรวจวิเคราะห์สภาพตาและก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 1 เดือนเต็ม เนื่องจากยาชนิดนี้ส่งผลให้เยื่อบุตาต่างๆ แห้งกว่าปกติ รวมถึงผิวกระจกตาด้วย
- หากใช้ยารักษาโรคประจำตัวอื่นๆ ใดอยู่ กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบในวันตรวจ เช่น เบาหวาน, ความดัน, ไขมัน, ยาไทรอยด์ และยานอนหลับทุกชนิด แต่ท่านยังคงใช้ยาได้ตามปกติ ไม่ต้องหยุดยาใดๆ ในวันตรวจ
3. ข้อมูลสำคัญอื่นๆ ที่ควรทราบก่อนการตรวจวิเคราะห์สภาพตา
- แพทย์ผู้ตรวจวิเคราะห์สภาพตาจะเป็นแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดให้กับท่าน ดังนั้นหากท่านต้องการระบุแพทย์ผู้ทำการผ่าตัด กรุณานัดตรวจวิเคราะห์สภาพตากับแพทย์ท่านนั้น
- กรณีที่มีความประสงค์หรือวางแผนที่จะเข้ารับการรักษาภาวะสายตาผิดปกติ นานเกิน 90 วันนับจากวันที่ตรวจ ท่านจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจซ้ำในบางขั้นตอน การตรวจซ้ำนี้มีความจำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อท่านเอง เนื่องจากในช่วงเวลาก่อนการผ่าตัดท่านอาจมีการเปลี่ยนแปลงของค่าสายตา หรืออาจมีปัญหาใดๆ เกิดขึ้นได้ ดังนั้นการตรวจซ้ำก็จะเป็นการยืนยันผลการตรวจอีกครั้งหนึ่ง
4. เวลาที่ใช้ในวันที่ตรวจวิเคราะห์สภาพตา: ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชม. (นับจากเวลานัดหมาย)
5. ขั้นตอนในการตรวจวิเคราะห์สภาพตา

- ลงทะเบียนผู้เข้ารับการรักษาใหม่
- การรับชมข้อมูล เพื่อศึกษารายละเอียดของการรักษา
- การตรวจวัดสภาพของดวงตาด้วยเครื่องมือแพทย์ประเภทต่างๆ
- การตรวจวัดสายตาทั้งก่อนและหลังหยอดยาขยายม่านตา
- การหยอดยาขยายม่านตา
- การตรวจวิเคราะห์สภาพตา และวิเคราะห์ผลการตรวจทั้งหมดโดยจักษุแพทย์ผู้ที่ทำการผ่าตัด
6. การสรุปผลการตรวจวิเคราะห์สภาพตาโดยจักษุแพทย์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
- ท่านมีสุขภาพตาสมบูรณ์แข็งแรง สามารถรักษาภาวะสายตาผิดปกติได้ โอกาสสำเร็จในการรักษาและโอกาสเกิดผลข้างเคียงต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ปกติ ท่านสามารถนัดผ่าตัดการรักษาได้ทันที หรือตามที่ท่านสะดวก
- ท่านไม่สามารถรักษาภาวะสายตาผิดปกติได้ อาจเนื่องจากเหตุผลต่างๆ จากสภาพของดวงตา สภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจ ฯลฯ แพทย์ผู้ตรวจอาจแนะนำทางเลือกการรักษาอื่นๆ ที่เหมาะสมกับท่านต่อไป โดยแพทย์ผู้ตรวจจะให้รายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจของท่านต่อไป
- ท่านอาจจะสามารถเข้ารับการรักษาภาวะสายตาผิดปกติ ได้ แต่ต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สภาพดวงตากลับสู่สภาพปกติ เหมาะสมต่อการรักษา เช่น อาการตาแห้ง หรือตาอักเสบจากการแพ้คอนแทคเลนส์ หรือการตรวจต่อกับจักษุแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆ เพื่อประเมินโรคตาต่างๆ เช่น สงสัยโรคจอประสาทตา หรือสงสัยโรคต้อหิน ฯลฯ
7. อาการหลังการหยอดยาขยายม่านตาด้วยยา Mydriacyl (Tropicamide 1.0%) ซึ่งผลของยาจะทำให้มีอาการดังต่อไปนี้

- มองเห็นไม่ชัดเจน ภาพเบลอ
- มองใกล้ลำบาก เมื่อใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์
- สู้แสงจ้าลำบาก อาจช่วยบรรเทาได้โดยการใส่แว่นกันแดด (ในกรณีที่ท่านนัดตรวจในตอนกลางวัน)
- อาจมีอาการวิงเวียนศรีษะ
- อาการดังกล่าว จะมีผลเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง
จากอาการดังกล่าวจึงไม่แนะนำให้ขับรถมาเองในวันตรวจ
