ความสำคัญของการตรวจสุขภาพตาประจำปี
- ผู้ที่มีภาวะสายตาผิดปกติ (สายตาสั้น ยาวโดยกำเนิด หรือสายตาเอียง) ทุกท่าน ไม่ว่าท่านจะผ่านการรักษา หรือแก้ไขสายตาผิดปกติหรือไม่ก็ตาม ท่านควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ อย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง เนื่องจาก ผู้ที่มีสายตาผิดปกติเหล่านี้ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางตาบางชนิดสูงกว่าคนปกติ เช่น โรคจอประสาทตาหลุดลอก ฯลฯ นอกจากนี้ ยังเป็นการเฝ้าระวังโรคทางตาที่อาจจะเกิดได้อีกด้วย
- ผู้ที่มีสายตาปกติ ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เช่นเดียวกันกับการตรวจสุขภาพร่างกาย วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังโรคทางตาที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก หรือ โรคจอประสาทตาเสื่อม ฯลฯ
การเตรียมตัวเพื่อตรวจสุขภาพตา

1. ผู้เข้ารับการตรวจต้องถอดคอนแทคเลนส์ ก่อนที่จะมาตรวจ ดังนี้
- คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft Lens) ควรงดใส่คอนแทคเลนส์อย่างน้อย 3 วันก่อนตรวจ
- คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Hard Lens) หรือชนิดกึ่งแข็งกึ่งนิ่ม (Semi Hard Lens) ควรงดใส่คอนแทคเลนส์อย่างน้อย 14 วันก่อนตรวจ
ทั้งนี้ คนไข้สามารถใช้แว่นสายตาแทนในระหว่างที่ไม่ได้ใส่คอนแทคเลนส์ เหตุผลของการงดใส่คอนแทคเลนส์ เนื่องจากคอนแทคเลนส์สัมผัสโดยตรงกับกระจกตา ซึ่งเมื่อไช้ไปนานๆ อาจทำให้รูปร่างของกระจกตาเปลี่ยนแปลงได้ และจะต้องใช้เวลาในการกลับคืนรูปร่างตามธรรมชาติ คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งจะมีผลต่อกระจกตามากกว่าคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม การวัดสายตาโดยที่ถอดคอนแทคเลนส์มาไม่นานพอ จะได้ค่าการวัดที่ไม่เที่ยงตรงในวันตรวจประเมินสภาพตา จักษุแพทย์จะแนะนำให้ท่านถอดคอนแทคเลนส์ ต่อไปอีกอย่างน้อย 2-3 วัน หรือตามความเหมาะสม และนัดท่านกลับมาตรวจสภาพกระจกตาซ้ำอีกครั้ง
2. ไม่ควรขับรถเอง
เนื่องจากหนึ่งในขั้นตอนการตรวจสุขภาพตา นั้นคือ การหยอดยาขยายม่านตา ซึ่งผลของยานี้จะทำให้คนไข้มีอาการดังต่อไปนี้
- มองเห็นไม่ชัดเจน ภาพเบลอ
- มองใกล้ลำบาก เมื่อใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์
- สู้แสงจ้าลำบาก อาจช่วยบรรเทาได้โดยการสวมแว่นกันแดด (ในกรณีที่ท่านนัดตรวจในตอนกลางวัน)
- อาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ
* * อาการดังกล่าว จะมีผลเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้คนไข้ขับรถเอง ในช่วงเวลาที่มีอาการดังกล่าว TRSC ขอแนะนำให้ผู้เข้ารับการรักษาใช้บริการรถแท๊กซี่ หรือ หาคนขับรถให้ในวันตรวจ
3. การหยุดใช้ยาบางประเภท
เช่น ยาแก้สิว Roaccutane, Acnotin หรือ Isotane ควรหยุดยาก่อนวันตรวจสุขภาพตา และก่อนผ่าตัด อย่างน้อย 1 เดือนเต็ม เนื่องจากยาชนิดนี้ส่งผลให้เยื่อบุต่างๆ แห้งกว่าปกติ รวมถึงผิวกระจกตาด้วย
4. การใช้ยารักษาโรคประจำตัวอื่นๆ
หากท่านมีการใช้ยารักษาโรคประจำตัวอื่นๆ ใดอยู่ กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบในวันตรวจ โดยเฉพาะยาไทรอยด์ และยานอนหลับ ทุกชนิด แต่ท่านยังคงใช้ยาได้ตามปกติไม่ต้องหยุดยาใดๆ ในวันตรวจ
5. สุภาพสตรีต้องไม่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์
สุภาพสตรีต้องไม่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ หากคลอดบุตรแล้ว ควรมีประจำเดือนมาปกติอย่างน้อย 2 ครั้งติดต่อกัน เนื่องจากการตั้งครรภ์และการให้นมบุตร ส่งผลต่อฮอร์โมนร่างกาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อค่าการวัดสายตาที่ไม่เที่ยงตรง